Yusupov, Prince Felix Felixovich (1887–1967)

เจ้าชายเฟลิกซ์ เฟลิโซวิช ยูซูปอฟ (พ.ศ. ๒๔๓๐–๒๕๑๐)

 เจ้าชายเฟลิกซ์ เฟลิโซวิช ยูซูปอฟ เป็นขุนนางและพระญาติของซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ซาร์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* พระองค์ต่อต้านการทำสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔–๑๙๐๕)* เพราะเห็นว่ารัสเซียไม่เข้มแข็งพอที่จะทำสงครามและกลุ่มที่สนับสนุนซาร์ให้ทำสงครามมีแผนบ่อนทำลายความมั่นคงของราชบัลลังก์ ทรงเห็นด้วยกับซารีนาอะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna)* ว่าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ไม่ควรออกแถลงการณ์เดือนตุลาคม (October Manifesto)* ในการจัดตั้งสภาดูมา (Duma)* เพราะเป็นการทอนอำนาจซาร์และอาจทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พังทลายได้ เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ เสด็จไปบัญชาการรบที่แนวหน้าระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ ซารีนาอะเล็กซานดราทรงบริหารประเทศตามคำกราบทูลของเกรกอรี เอฟีโมวิช รัสปูติน (Gregory Efimovich Rasputin)* นักบวชที่ทรงเชื่อว่าเป็น “คนของพระเป็นเจ้า” จนงานราชการแผ่นดินเสียหาย กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายจึงสร้างข่าวลือเรื่องความเหลวแหลกของราชสำนักใต้เงารัสปูตินและปลุกระดมการเคลื่อนไหวต่อต้านซาร์ เจ้าชายยูซูปอฟซึ่งต้องการปกป้องราชวงศ์จึงคบคิดกับนักการเมืองฝ่ายขวาวางแผนสังหารรัสปูติน

 เจ้าชายยูซูปอฟประสูติเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๘๗ ที่วังมอยคา (Moika) ในกรุงเซนต์-ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) เมืองหลวงของจักรวรรดิรัสเซีย เคานต์เฟลิกซ์ เฟลิโซวิช ซูมาโรคอฟ-เอลสตัน (Felix Felixovich Sumarokov-Elston) พระบิดารับราชการและต่อมาได้เป็นข้าหลวงแห่งมอสโกซีไนดา นีโคลาเยฟนา ยูซูปอฟ (Zinaida Nikolayevna Yusupov) พระมารดาเป็นเจ้าหญิงแห่งตระกูลยูซูปอฟ (House of Yusupov) ที่มั่งคั่ง ตระกูลยูซูปอฟสืบสายมาจากชนเผ่าตาร์ตาร์ (Tartar) หรือมองโกลที่แรกเริ่มตั้งรกรากทางตอนเหนือของทะเลดำและขยายถิ่นฐานจนมีอำนาจในแถบไครเมีย ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ในรัชสมัยซาร์อีวานที่ ๔ (Ivan IV ค.ศ. ๑๕๓๓–๑๕๘๔) หรืออีวานผู้เหี้ยมโหด (Ivan the Terrible) พวกตาร์ตาร์ได้สวามิภักดิ์ต่อรัสเซียและเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นิกายกรีกออร์ทอดอกซ์ (Greek Orthodox) การเข้าร่วมกับรัสเซียเปิดโอกาสให้พวกตาร์ตาร์เข้าไปบุกเบิกและสำรวจดินแดนไซบีเรียและดินแดนอื่น ๆ ในเอเชียกลาง จนได้ครอบครองดินแดนกว้างใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ สินแร่ และขนสัตว์ ในเวลาต่อมา ซาร์เฟโอดอร์ที่ ๓ (Feodor III ค.ศ. ๑๖๗๖–๑๖๘๒)จึงสถาปนาสายตระกูลยูซูปอฟให้เป็นเจ้า ตระกูลยูซูปอฟจึงเริ่มมีบทบาทและอำนาจมากขึ้นในราชสำนัก และคนในตระกูลดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ในราชการและราชสำนัก ทั้งได้ชื่อว่าเป็นตระกูลที่มั่งคั่งมากกว่าตระกูลโรมานอฟ โดยมีทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลซึ่งรวมทั้งวัง ๔ แห่งในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ๓ แห่งในนครมอสโก และคฤหาสน์ ๓๗ หลังทั่วรัสเซีย รวมทั้งเหมืองถ่านหินและเหล็กบ่อน้ำมันในทะเลแคสเปียนไร่นาขนาดใหญ่และโรงงานอุตสาหกรรมอีกนับไม่ถ้วน

 ยูซูปอฟเป็นโอรสองค์สุดท้ายมีพระเชษฐาพระนามนีโคไล (Nicolai) ซึ่งมีพระชันษามากกว่า ๔ ปี พระองค์ทรงใกล้ชิดและผูกพันกับพระมารดามากกว่าพระบิดา ตั้งแต่เล็กทั้ง ๒ พระองค์ทรงถูกพะเน้าพะนอตามใจอย่างมาก นีโคไลทรงเป็นคนหยิ่งยโสและอวดดี ใช้ชีวิตเสเพล ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ เมื่อพระชันษา ๒๖ ปีทรงมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและถูกสามีของเธอท้าทายให้ต่อสู้ด้วยการดวลดาบ นีโคไลทรงถูกแทงเสียชีวิต ยูซูปอฟจึงเป็นทายาทเพียงองค์เดียว ตั้งแต่เยาว์วัยยูซูปอฟทรงเป็นเด็กหน้าตาสะสวยและมีดวงตาโตสีน้ำเงินเข้ม พระองค์ทรงชอบนำเสื้อผ้าและเครื่องประดับของพระมารดามาแต่งเป็นผู้หญิงและออกไปหว่านเสน่ห์นอกวัง รูปร่างที่บอบบางและใบหน้าที่สะสวยมีส่วนทำให้ทหารการ์ดหลายนายหลงใหล ทั้งขุนนางหนุ่ม ๆ ก็อยากรู้จักกับหญิงลึกลับเจ้าเสน่ห์คนนี้อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อพระบิดาทรงรับรู้เรื่องดังกล่าวพระองค์ทรงโกรธมากและสั่งให้ควบคุมยูซูปอฟอย่างเข้มงวด ทั้งทรงบังคับให้เปลี่ยนบุคลิกภาพเป็นชายและให้มีนายทหารนอกราชการคอยดูแล

 เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๔–๑๙๐๕ ซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องของกลุ่มเสรีนิยมให้ปฏิรูปทางการเมือง ยูซูปอฟไม่ทรงเห็นด้วยกับการเข้าสู่สงครามของรัสเซียเพราะตระหนักว่ารัสเซียยังไม่เข้มแข็งพอ และสงครามจะส่งผลกระทบทางสังคมที่เลวร้าย ทั้งต่อต้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้น รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมได้ และนำไปสู่การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905)* ในเดือนตุลาคมพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* และพรรคเมนเชวิค (Mensheviks)* ปลุกระดมประชาชนและกรรมกรให้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและซาร์นิโคลัสที่ ๒ ในชั้นต้นซาร์นิโคลัสที่๒มีพระประสงค์จะใช้กำลังปราบปรามแต่ต่อมาเปลี่ยนพระทัยและประกาศแถลงการณ์เดือนตุลาคมเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ โดยให้จัดตั้งสภาดูมาและดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองซึ่งเป็นการเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมได้และเริ่มกวาดล้างฝ่ายปฏิวัติยูซูปอฟไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งสภาดูมาเท่าใดนักเพราะเห็นว่าเป็นการทอนอำนาจของซาร์ลง

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๙–๑๙๑๓ ยูซูปอฟไปศึกษาด้านศิลปะที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษและเป็นสมาชิกสโมสรบุลลิงดัน (Bullingdon Club) ซึ่งเป็นสโมสรพิเศษเฉพาะคนหนุ่มที่มาจากตระกูลสูงที่มั่งคั่ง สโมสรนี้มักมีงานเลี้ยงที่หรูหราและมีการจัดพิธีกรรมอึกทึกครึกโครมพระองค์และเพื่อนๆยังได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมรัสเซียแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University Russian Society) ขึ้นด้วย ทำให้พระองค์ทรงมีเพื่อนมาก บ้านพักของพระองค์เป็นที่พบปะสังสรรค์ของเพื่อน ๆ และมีงานเลี้ยงบ่อย ๆ พระองค์ทรงมีพ่อครัวเป็นชาวรัสเซีย คนขับรถเป็นชาวฝรั่งเศส พ่อบ้านและคนรับใช้เป็นชาวอังกฤษ เพื่อนฝูงมักอ้างขอมารับประทานอาหารรัสเซียที่บ้านเป็นประจำและมักมีแขกมาเยือนมากหน้าหลายตาจนบ้านพักได้ชื่อว่าเป็น “โอเอซิสแห่งลอนดอน”

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๔ ยูซูปอฟทรงกลับรัสเซียและมีโอกาสรู้จักกับเจ้าหญิงไอรีนา อะเล็กซานดรอฟนา (Irina Alexandrovna) พระธิดาของแกรนด์ดัชเชสซีเนีย (Xenia) พระราชธิดาองค์โตของซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ (Alexander III)* และเป็นพระขนิษฐาของซาร์นิโคลัสที่ ๒ พระมารดาของยูซูปอฟเป็นพระสหายสนิทของซารีนาอะเล็กซานดรา ทั้ง ๒ พระองค์ทรงมุ่งมั่นจะจับคู่ยูซูปอฟกับไอรีนา ยูซูปอฟทรงมักไปเข้าเฝ้าซารีนาที่ห้องสีม่วง (Mauve Boudoir) ซึ่งเป็นห้องส่วนพระองค์ที่ทุกอย่างเป็นสีม่วงอยู่บ่อยครั้งจนพระนางโปรดปรานยูซูปอฟมาก ซารีนาจึงทรงโน้มน้าวแกรนด์ดุ๊กอะเล็กซานเดอร์ มีไฮโลวิช (Alexander Mikhailovich) พระบิดาของเจ้าหญิงไอรีนาซึ่งไม่พอพระทัยเรื่องความเบี่ยงเบนทางเพศและการใช้ชีวิตนอกลู่นอกรอยของยูซูปอฟ ให้เปลี่ยนพระทัยไม่ขัดขวางความรักของทั้งสองได้สำเร็จ ยูซูปอฟและเจ้าหญิงไอรีนาเสกสมรสที่พระราชวังอนิชคอฟ (Anichkov) ชานกรุงมอสโกเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๔ งานเสกสมรสที่จัดขึ้นอย่างหรูหรางดงามเป็นหัวเรื่องสนทนากันทั่วทั้งประเทศ ทั้ง ๒ พระองค์เสด็จไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ณ กรุงไคโร นครเยรูซาเลม กรุงลอนดอน และเมืองบาดคิสซิงเงิน (Bad Kissingen) เยอรมนีซึ่งพระบิดาของยูซูปอฟประทับอยู่

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ ยูซูปอฟและเจ้าหญิงไอรีนาทรงถูกกักบริเวณที่กรุงเบอร์ลินและไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II)* ปฏิเสธที่จะให้ทั้ง ๒ พระองค์กลับรัสเซีย พระบิดาของยูซูปอฟจึงทรงขอให้เอกอัครราชทูตสเปนในเยอรมนีหาทางช่วยเหลือจนได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับประเทศผ่านเดนมาร์กฟินแลนด์ และถึงกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กได้ในที่สุดเมื่อกลับเข้าประเทศ ยูซูปอฟทรงติดตามสถานการณ์สงครามอย่างใกล้ชิดและปรับปรุงส่วนหนึ่งของวังมอยคาที่ประทับให้เป็นสถานพยาบาลสำหรับทหารที่บาดเจ็บแม้พระองค์จะไม่ได้ทรงเป็นทหารเพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ตระกูลที่มีฐานะซึ่งมีบุตรชายคนเดียวเป็นทหาร แต่ก็ทรงเข้ารับการฝึกอบรมวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยและชอบแต่งเครื่องแบบเวลาเสด็จไปที่ต่าง ๆแกรนด์ดัชเชสออลกา (Olga) พระราชธิดาองค์โตของซาร์นิโคลัสที่ ๒ ซึ่งเสด็จไปเยือนสถานพยาบาลที่วังมอยคาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ มีพระอักษรถึงพระราชบิดาว่า เจ้าชายยูซูปอฟในชุดเครื่องแบบไม่ได้ทรงทำอะไรเลยนอกจากเดินไปเดินมาและหาหนังสืออ่าน ในช่วงเวลาแบบนี้ทรงทำพระองค์ไร้ค่ามาก ในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน ยูซูปอฟได้พระธิดาองค์แรกและองค์เดียวคือ เจ้าหญิงไอรีนา เฟลิซอฟนา ยูซูปอฟ (Irina Felixovna Yusupov) ประสูติเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๕

 แม้รัสเซียจะเป็นฝ่ายชนะสงครามในระยะแรกแต่สงครามที่ยืดเยื้อและความพ่ายแพ้ของรัสเซียในยุทธการที่ทันเนนแบร์ก (Battle of Tannenberg)* และยุทธการที่ทะเลสาบมาซูเรียน (Battle of the Masurian Lake) ก็ส่งผลต่อการรุกรบของรัสเซีย ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ จึงเสด็จไปบัญชาการรบด้วยพระองค์เองและทรงให้ซารีนาอะเล็กซานดราเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระนางทรงบริหารประเทศตามคำแนะนำของนักบวชรัสปูตินที่ไร้ความสามารถจนงานราชการแผ่นดินเสียหาย ความไว้วางพระทัยของซารีนาต่อรัสปูตินทำให้เกิดข่าวลือว่ารัสปูตินคือสายลับเยอรมนีที่เป็นชู้รักของซารีนา “หญิงเยอรมันต่างชาติ” ซึ่งต้องการให้รัสเซียเปิดการเจรจาสันติภาพกับเยอรมนีตามเงื่อนไขที่เยอรมนีกำหนดสภาดูมาจึงพยายามทูลแนะให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงปฏิรูปการเมืองและปรับคณะเสนาบดีแต่ก็ล้มเหลวการต่อต้านพระราชวงศ์จึงเริ่มก่อตัวชัดเจนมากขึ้นฝ่ายที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปกป้องราชวงศ์ด้วยการกำจัดรัสปูติน ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ ยูซูปอฟจึงตัดสินพระทัยคบคิดแผนสังหารรัสปูตินกับแกรนด์ดุ๊กดมิตรี ปัฟโลวิช โรมานอฟ (Dmitri Pavlovich Romanov) พระญาติที่ใกล้ชิดกับซาร์วลาดีมีร์ ปูริชเควิช (Vladimir Purishkevich) ผู้นำกลุ่มกษัตริย์นิยมในสภาดูมาและนายทหารรวมทั้งบุคคลที่ไว้วางพระทัยรวม ๖ คน ก่อนหน้าการวางแผนสังหารครั้งนี้มีการพยายามลอบสังหารรัสปูตินหลายครั้งแต่ล้มเหลว

 ยูซูปอฟทรงเคยพบและรู้จักรัสปูตินครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๙๐๙ ช่วงที่พระองค์กลับจากอังกฤษมารัสเซียและจากนั้นก็พบกันอีกหลายครั้ง แกรนด์ดุ๊กนีโคไลมีไฮโลวิช พระญาติผู้ใหญ่ของยูซูปอฟบอกเล่าคนใกล้ชิดว่ายูซูปอฟกับรัสปูตินมีความสัมพันธ์ที่ผิดปรกติและทรงเชื่อว่ารัสปูตินหลงใหลยูซูปอฟ ก่อนที่ยูซูปอฟจะเสกสมรส ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เป็นเรื่องซุบซิบอื้อฉาวในแวดวงสังคมแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กยูซูปอฟทรงวางแผนสังหารโดยเชิญรัสปูตินมางานเลี้ยงส่วนพระองค์ที่วังมอยคาในคืนวันที่ ๑๖ ธันวาคม และเพื่อเข้าเฝ้าพระชายาของพระองค์ด้วย ในคืนวันที่ ๑๖ นั้นเมื่อรัสปูตินมาถึง ยูซูปอฟจัดฉากให้รัสปูตินเข้าใจว่าแขกส่วนใหญ่เดินทางกลับไปแล้วและมีเพียงพระสหายสนิทไม่กี่คนที่เหลือเพื่อรอพบเขา รัสปูตินถูกลวงให้กินยาพิษไซยาไนด์อย่างแรงที่ผสมไว้ในเค้กและไวน์แดงรสเลิศ รวมทั้งจาน ช้อน และส้อมก็เคลือบยาพิษไว้เช่นกัน อย่างไรก็ตามแม้รัสปูตินจะกินเค้กหลายชิ้นและดื่มไวน์ ๒–๓ แก้ว แต่ก็ดูเหมือนว่ายาพิษไซยาไนด์จะทำอันตรายรัสปูตินไม่ได้ ยูซูปอฟจึงตัดสินพระทัยยิงเขาที่หัวใจจนฟุบลงบนพรมและมั่นพระทัยว่ารัสปูตินตายแล้วขณะที่ทุกคนเตรียมเก็บศพและทำลายหลักฐานต่าง ๆ รัสปูตินก็ลืมตาฟื้นขึ้นมาและตะเกียกตะกายไปที่ประตูวัง พระองค์และผู้ร่วมสมคบคิดคนอื่น ๆ ต่างช่วยกันสังหารเขาอีกครั้งด้วยการยิงซ้ำอีก ๓ ครั้งจนแน่ใจว่าเขาสิ้นใจแล้วทั้งยังใช้ท่อนเหล็กทุบตีใบหน้าและอกของรัสปูตินอีกหลายครั้งก่อนห่อด้วยพรมและผูกให้แน่นหนา ศพรัสปูตินถูกโยนไว้ท้ายรถยนต์ของยูซูปอฟและนำไปโยนในแม่น้ำเนวา (Neva) ที่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็งโดยต้องทุบน้ำแข็งเป็นรูใหญ่โซ่ที่มัดรอบอกได้ถ่วงศพจมหายไปใต้ผิวน้ำ

 หลังรัสปูตินเสียชีวิตได้๑วันทั่วทั้งกรุงเปโตรกราดก็รับรู้เรื่องการหายสาบสูญของรัสปูติน อีก ๒ วันต่อมาในวันที่ ๑๘ ธันวาคม ตำรวจก็สามารถคลายปมได้และพบศพรัสปูตินที่ถูกถ่วงใต้ผิวน้ำลึก ๖๐ ฟุต ประชาชนทั่วไปยินดีปรีดาที่ทราบข่าวการเสียชีวิตของรัสปูตินแต่ทั้งซาร์และซารีนาเสียพระหทัยมากโดยเฉพาะซารีนาแทบจะพระทัยสลาย หลังเหตุการณ์เสียชีวิตของรัสปูติน ยูซูปอฟและผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์งานเลี้ยงคืนวันที่ ๑๖ ธันวาคม ถูกไต่สวนเข้มงวดยูซูปอฟไม่ได้ทรงถูกจับหรือพิจารณาตัดสินโทษแต่อย่างใดเนื่องจากเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ใกล้ชิดกับซาร์พระองค์เพียงถูกขับออกจากกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งขณะนั้นเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงเปโตรกราดและถูกส่งตัวไปกักบริเวณ ณ ตำหนักของพระองค์ที่ไครเมีย ส่วนผู้สมรู้ร่วมคิดคนอื่น ๆ ถูกเนรเทศไปรบในแนวหน้า อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางสังคมและการเมืองหลังเหตุการณ์สังหารรัสปูตินก็ไม่ได้ดีขึ้นเท่าใดนักเพราะซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงปฏิเสธที่จะปฏิรูปการเมืองตามคำกราบทูลของสภาดูมา

 ในฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๑๖–๑๙๑๗ กระแสการต่อต้านสงครามขยายตัวอย่างรวดเร็วและปัญหาการขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงทำให้การชุมนุมก่อการจลาจลตามเมืองใหญ่ ๆ มีมากขึ้นจนนำไปสู่การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงถูกกดดันให้สละราชบัลลังก์รัสเซียจึงเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบทวิอำนาจระหว่างรัฐบาลเฉพาะกาลกับสภาโซเวียต หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ยูซูปอฟทรงกลับมายังกรุงเปโตรกราดเก็บเครื่องเพชรและทรัพย์สินที่มีค่ารวมทั้งภาพเขียน ๒ ภาพของแรมบรันดท์ ฮาร์เมนส์โซน ฟัน ไรน์ (Rembrandt Harmenszoon van Rijn) ศิลปินชาวดัตช์กลับไปยังพระราชวังที่ไครเมีย พระองค์ทรงติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่กรุงเปโตรกราดและไม่ทรงเห็นด้วยที่ เจ้าชายเกรกอรี ลวอฟ (Gregory Lvov)* ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลเพื่อเปิดโอกาสให้อะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* รัฐมนตรีสงครามเข้าดำรงตำแหน่งแทนพร้อมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคเมนเชวิคและพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party)* อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมายูซูปอฟทรงเห็นด้วยกับเคเรนสกีที่สนับสนุนให้นายพลลาฟร์ คอร์นีลอฟ (Lavr Kornilov)* นายทหารชาตินิยมเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพื่อทำสงครามต่อสู้กับเยอรมนีและปราบปรามกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายในแนวหลัง

 ความนิยมของประชาชนที่มีต่อนายพลคอร์นีลอฟทำให้เคเรนสกีวิตกว่าเขาจะแย่งชิงอำนาจ เคเรนสกีจึงหาทางกำจัดคอร์นีลอฟและนำไปสู่กรณีเรื่องคอร์นีลอฟ (Kornilov Affair)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๗ หลังเหตุการณ์ครั้งนี้สภาโซเวียตมีบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้นจนรัฐบาลเฉพาะกาลต้องหาทางแก้ไขโดยจัดประชุมกลุ่มเสรีนิยมต่าง ๆ ขึ้นในเดือนกันยายนเพื่อผนึกกำลังสนับสนุนรัฐบาลทั้งให้สัญญาว่าจะเร่งให้มีการเลือกตั้งผู้แทนทั่วไปขึ้นโดยเร็วในช่วงเวลาดังกล่าว ยูซูปอฟทรงรับรู้ข่าวลือเรื่องการเตรียมลุกฮือขึ้นสู้เพื่อโค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลของสภาโซเวียตพระองค์จึงทรงพยายามติดต่อปาเวล มิลยูคอฟ (Pavel Milyukov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พระสหายต่างชาติ และสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษเพื่อขอลี้ภัยแต่เมื่อพระองค์ทรงกลับมายังกรุงเปโตรกราดได้เพียงวันเดียว รัฐบาลเฉพาะกาลก็ถูกโค่นอำนาจในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ยูซูปอฟทรงต่อต้านพวกปฏิวัติและเห็นว่าวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* และเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* ผู้นำพรรคบอลเชวิคที่ยึดอำนาจกำลังนำรัสเซียดิ่งสู่หุบเหวแห่งความหายนะ กลุ่มบอลเชวิคต้องการยึดวังมอยคาเป็นที่พักอาศัยและใช้เป็นสถานที่ทำงานพระองค์ทรงปฏิเสธแต่ล้มเหลวและท้ายที่สุดพระองค์ทรงจำต้องหลบหนีกลับไปยังไครเมีย

 ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๒๑)* กองทัพแดง (Red Army)* ได้เคลื่อนกำลังรุกรบจนใกล้จะถึงไครเมียพระเจ้าจอร์จที่ ๕ (George V)* แห่งอังกฤษกังวลพระทัยเรื่องความปลอดภัยของซารีนามาเรีย เฟโอโดรอฟนา (Maria Feodorovna)* สมเด็จพระพันปีหลวงซึ่งประทับอยู่ที่ไครเมีย จึงส่งเรือรบหลวงมาร์ลบะระ (HMS Marlborough) มารับไปประทับที่อังกฤษ ในวันที่ ๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๑๙ สมเด็จพระพันปีหลวงและสมาชิกของราชวงศ์โรมานอฟอีก ๑๙ องค์ ซึ่งรวมทั้งเจ้าชายยูซูปอฟและพระชายา และข้าราชบริพารอีกกลุ่มหนึ่งก็เดินทางออกจากรัสเซียระหว่างการเดินทางยูซูปอฟเล่าโอ้อวดวีรกรรมการสังหารรัสปูตินจนเป็นที่รับรู้กันทั่ว เมื่อเรือรบหลวงมาร์ลบะระเข้าเทียบท่าที่เกาะมัลตา (Malta) ก่อนถึงอังกฤษ ยูซูปอฟและพระชายาทรงเดินทางด้วยรถไฟต่อไปยังอิตาลีฝรั่งเศสและอังกฤษในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๐ ทั้ง ๒ พระองค์ทรงอพยพไปอยู่ที่กรุงปารีสเป็นการถาวร

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ยูซูปอฟและพระชายาทรงฟ้องร้องบริษัทภาพยนตร์เมโทรโกลด์วินเมเยอร์ (Metro Goldwyn Mayer–MGM) ต่อศาลอังกฤษที่สร้างภาพยนตร์เรื่อง Rasputin and the Empressด้วยข้อหาละเมิดสิทธิส่วนพระองค์และสร้างเรื่องเท็จเพราะเจ้าหญิงนาตาชา (Natasha) ในภาพยนตร์ที่หมายถึงเจ้าหญิงไอรีนาถูกรัสปูตินหว่านเสน่ห์และมีความสัมพันธ์ด้วย ยูซูปอฟทรงชนะคดีใน ค.ศ. ๑๙๓๔ และได้ค่าเสียหายกว่า ๒๕,๐๐๐ ปอนด์ ซึ่งนับเป็นเงินจำนวนมากในขณะนั้น การชนะคดีครั้งนี้มีส่วนทำให้เรื่องราวที่เกี่ยวกับรัสปูตินซึ่งนิยมสร้างเป็นภาพยนตร์และละครในต้นทศวรรษ ๑๙๓๐ ต้องระมัดระวังกันมากขึ้นและมักกล่าวอ้างกันว่าเป็นการสร้างจากเรื่องแต่งที่ไม่ใช่เรื่องจริง อย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นมามีอำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ และสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในยุโรปที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีส่วนทำให้เรื่องราวของรัสปูตินและยูซูปอฟไม่เป็นที่สนใจจนเงียบหายไป

 ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ หนังสืออัตชีวประวัติของยูซูปอฟ เรื่อง Lost Splendor and the Death of Rasputin พิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนและได้รับการต้อนรับอย่างดีจากนักอ่านและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับรัสเซีย เนื้อหาแบ่งเป็น ๒ ภาคภาคแรกว่าด้วยความเป็นมาของตระกูลยูซูปอฟและชีวิตอิสระของพระองค์ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ และการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๑๗ รวมทั้งการสังหารรัสปูติน ภาค ๒ ว่าด้วยชีวิตเนรเทศในต่างแดนเรื่องราวของยูซูปอฟที่เป็นหลักฐานเอกสารดังกล่าวเปิดโอกาสให้มาเรีย (Maria) บุตรสาวของรัสปูตินซึ่งหนีออกนอกประเทศหลังการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๑๗ และพักพิงที่ฝรั่งเศส ใช้เป็นหลักฐานฟ้องศาลฝรั่งเศสเรียกค่าเสียหายจำนวนมหาศาลจากยูซูปอฟและแกรนด์ดุ๊กดิมีตรี ปัฟโลวิชในการสังหารบิดาของเธอ มาเรียเคยเขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องราวการสังหารรัสปูตินมาก่อนแล้ว โดยอ้างว่าเจ้าชายยูซูปอฟเคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกับบิดาและพระองค์หลงใหลเสน่ห์กลิ่นกายและลีลาอันเร่าร้อนรุนแรงของรัสปูตินมากแต่รัสปูตินปฏิเสธที่จะสานต่อความสัมพันธ์ดังกล่าวซึ่งเป็นมูลเหตุของการสังหารอันหฤโหด แต่คำกล่าวอ้างของเธอก็ไม่เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือมากนักในการฟ้องร้องครั้งนี้มาเรียกล่าวหาว่ายูซูปอฟและแกรนด์ดุ๊กเป็นฆาตกรที่คบคิดแผนสังหาร อย่างไรก็ตาม ศาลฝรั่งเศสยกฟ้องด้วยข้ออ้างว่าไม่มีอำนาจตัดสินคดีการสังหารในรัสเซียที่มีประเด็นทางการเมืองเกี่ยวข้อง

 ในบั้นปลายชีวิต เจ้าชายยูซูปอฟและเจ้าหญิงไอรีนาครองชีวิตคู่ด้วยกันอย่างมีความสุขและมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย ยูซูปอฟสิ้นพระชนม์ที่กรุงปารีสใน ค.ศ. ๑๙๖๗ รวมพระชันษาได้ ๘๐ ปี ศพของพระองค์บรรจุไว้ที่สุสานของชาวรัสเซียที่แซงต์-เฌอเนอวิแยฟว์-เด-บัว (Sainte-Geneviève-des-Bois) ชานกรุงปารีสทางตอนใต้.



คำตั้ง
Yusupov, Prince Felix Felixovich
คำเทียบ
เจ้าชายเฟลิกซ์ เฟลิโซวิช ยูซูปอฟ
คำสำคัญ
- กรณีเรื่องคอร์นีลอฟ
- กองทัพแดง
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- คอร์นีลอฟ, ลาฟร์
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- ตรอตสกี, เลออน
- แถลงการณ์เดือนตุลาคม
- นาซี
- บอลเชวิค
- พรรคนาซี
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคเมนเชวิค
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน
- พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
- มิลยูคอฟ, ปาเวล
- เมนเชวิค
- ยุทธการที่ทะเลสาบมาซูเรียน
- ยุทธการที่ทันเนนแบร์ก
- รัสปูติน, เกรกอรี เอฟีโมวิช
- เลนิน, วลาดีมีร์
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สภาดูมา
- อีวานผู้เหี้ยมโหด
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1887–1967
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๐–๒๕๑๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-